Saturday, April 16, 2016

10 เทคนิคการสอนให้พี่น้องรักกัน ทำได้ไม่ยาก




ตามหลักการวางแผนครอบครัวที่เหมาะสมคือ ควรมีบุตรได้เพียง 2 คน อ้างอิงจากสมาคมวางแผนครอบครัว ครั้นจะมีเพียงคนเดียวก็เกรงว่าลูกไม่มีเพื่อนเล่น กลัวว่าไม่มีพ่อแม่แล้วลูกจะไม่มีใคร หลายครอบครัวจึงตัดสินใจที่จะมีอีกหนึ่งคนหวังเพียงให้เค้ารักกัน พึ่งพาอาศัยกันแบบจริงใจ มีความรักให้กันแบบที่ไม่มีใครสามารถเทียบได้ แต่จะทำอย่างไรให้พี่น้องรักกัน ไม่เป็นเพียงลมปากที่พ่อแม่คอยสั่งให้"ต้องรักกัน"

เทคนิคการสอนให้พี่น้องรักกัน
 
1. การใช้สรรพนามพี่และน้องแทนตัว ซึ่งเป็นคำจำกัดความ เป็นคำที่มีความหมายในตัวอยู่แล้ว พี่ก็คือผู้ที่เกิดก่อน น้องก็คือผู้ที่เกิดทีหลัง ไม่ว่าจะอ่อนกว่าด้วยวัน เดือนหรือปี การลำดับนั้นย่อมสำคัญเป็นไปตามหลักธรรมชาติ ผู้ปกครองจึงควรสอนให้ลูกได้เรียกพี่ว่าพี่ และน้องก็แทนตัวเองว่าน้อง เช่น พี่เต้ย น้องต่าย
 
2. การสอนให้รู้จักหน้าที่ที่พึงมีตามหลักอายุ หมายถึง ลูกคนที่โตกว่าย่อมมีประสบการณ์มาก่อน จึงควรสอนให้เป็นไปในทางพี่สอนน้อง น้องทำตามพี่ด้วยความเต็มใจ
 
3. การสอนให้รู้จักแบ่งปัน เสียสละ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กับพี่กับน้อง โดยความสำคัญระหว่างพี่น้องอาจต้องมาก่อนเพื่อน หากการช่วยเหลือในครอบครัวยังมีไม่ได้ก็จะหาความจริงใจจากคนภายนอกก็ทำได้ยากเช่นกัน
 
4. การสอนให้เห็นคุณค่าของกันและกัน ผู้ปกครองควรเน้นย้ำให้ทั้งพี่และน้องตระหนักถึงการมีกันและกัน ซึ่งหากขาดใครไปสักคนก็เปรียบเหมือนบ้านที่แตกพัง กิจกรรมบางอย่างในครอบครัวต้องอาศัยคุณค่าของการอยู่ร่วมกันจึงจะเกิดความสุขที่แท้จริง อาทิ การจัดงานวันเกิด หากจัดโดยไม่ครบครอบครัว งานในวันนั้นก็จะสนุกไม่ได้เลย
 
5. การสอนให้รู้จักอภัย ถ้อยทีถ้อยอาศัยไม่ใช้กำลังเพื่อการได้มา มีบ่อยครั้งที่พี่น้องตีกันเพื่อแย่งของกัน จึงเป็นหน้าที่หนึ่งที่ผู้ปกครองต้องเปรียบเหมือนกรรมการคอยห้ามและตัดสินอย่างยุติธรรม ไม่เอนเอียงไปข้างคนที่ตนรักหรือเพียงเพราะอ่อนแอกว่าเพราะในบางครั้งก็ไม่จำเป็นเสมอไปว่าพี่ต้องยอมน้องในทุกกรณี พี่อาจได้รับการตัดสินให้เป็นฝ่ายที่ถูกต้องบ้างก็เป็นได้
 
6. เลิกพฤติกรรมการแข่ง ผู้ปกครองไม่ควรใช้คำว่าชนะหรือแพ้ ไม่ว่าจะแข่งอาบน้ำ กินข้าว เก็บของเล่น ทำการบ้านรวมไปถึงผลการเรียน อาทิ ใครเร็ว ใครทำก่อน ใครคะแนนดีกว่า จะเป็นฝ่ายชนะซึ่งในความเป็นจริงแล้วอีกฝ่ายอาจกำลังทำด้วยเช่นกันแต่อาจช้ากว่าด้วยบุคลิกหรือความรอบคอบที่มีมากกว่าจึงไม่อาจเปรียบเทียบได้เลยกับคำว่าแพ้หรือชนะ ก่อให้เกิดอุปนิสัยแก่งแย่งชิงดีเพื่อให้พ่อแม่กล่าวชมว่าทำได้เร็วดังใจพ่อแม่ ซึ่งเด็กจะจำฝังใจไปถึงตอนโต ว่าเมื่อคนแพ้มักต้องได้รับความอับอายที่ทำการสำเร็จได้ช้ากว่า อาจส่งผลให้เกิดความอิจฉา ทำการโดยความไม่รอบคอบและไม่ยอมรับอาจความจริงได้เลยว่าตนเป็นฝ่ายแพ้
 
7. เน้นย้ำการลงโทษที่เท่าเทียมและยุติธรรม ไม่เอนเอียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ควรมีการซักถามถึงที่มาที่ไปให้ดีเสียก่อนลงโทษ เพราะในบางครั้งภาพที่เห็นอาจไม่ใช่คำตอบที่แท้จริงก็เป็นได้ อาจสร้างความน้อยเนื้อต่ำใจในการโดนลงโทษทั้งที่ไม่ผิดหรือเป็นความผิดเล็กๆน้อยๆที่เกิดจากการเล่นกันเพียงเท่านั้นเอง
 
8. สอนให้มีการดูแลซึ่งกันและกัน ในยามเจ็บป่วยให้ดูแลเช็ดตัวหาน้ำให้ทานในสิ่งที่ช่วยได้เล็กๆน้อยๆ ชี้ให้เห็นถึงความเจ็บปวดของอีกฝ่ายที่มี เมื่อมีความทุกข์ ควรสอนให้พี่หรือน้องได้รับการปลอบประโลมจากอีกฝ่ายอีกทั้งสอนให้รู้จักหาเหตุผลที่ถูกต้องมาอธิบายหรือปลอบประโลม มิใช่เพียงเข้าข้างโดยไม่มองว่าอะไรควรหรือไม่ควร
 
9. ผู้ปกครองควรหากิจกรรมร่วมกันให้พี่และน้องได้ทำ อาทิการร่วมกันจัดสวน จัดบ่อปลา ออกกำลังกายที่เป็นคู่ เล่นดนตรีที่ไปในทางเดียวกัน เพื่อเสริมกำลังนันทนาการร่วมก่อให้เกิดความสุขและรอยยิ้มได้ระหว่างพี่น้อง
 
10. สร้างประเด็นให้ช่วยวิเคราะห์และช่วยกันสรุป ผู้ปกครองควรใช้โอกาสพิเศษต่างๆ ถกเถียงประเด็นที่คิดว่ามีความแตกต่างในทัศนคติของแต่ละคนและร่วมสรุปถึงทางออกหรือภาพรวมในสิ่งที่ควรจะเป็น อาทิ เมื่อดูข่าวแล้วผู้ปกครองควรตั้งประเด็นให้ถกเถียง โดยถามความคิดเห็นจากพี่และน้องและให้ร่วมสรุปประเด็นนั้นๆด้วยกันโดยไม่มีใครผิดหรือถูก ข้อนี้นับว่าสำคัญมาก เป็นการสอนให้เคารพกันและกันไปในตัว ช่วยคิดช่วยทำ เพราะในอนาคตข้างหน้า ความคิดเห็นที่ไม่ลงรอยกันนี้คือจุดเปลี่ยนของการอยู่ร่วมกันได้

ทั้ง10 เทคนิคนี้จะเห็นว่าทำได้ไม่ยากหากเพียงแต่ผู้ปกครองใส่ใจและพยายามทำให้ดีที่สุด อนาคตข้างหน้าก็จะได้มีความอุ่นใจ มั่นใจว่าพี่น้องจะรักกันไปตราบนานเท่านาน จะไม่มีใครทิ้งใครหากใครคนหนึ่งลำบาก ซึ่งนับได้ว่าเป็นความหวังสุดท้ายของการมีลูกหลายคน ดังคำที่ว่า "เมื่อมีลูกหวังเพียงได้พึ่งพิงยามแก่เฒ่า แต่เมื่อพ่อแม่ไม่อยู่แล้วหวังพวกเจ้าจะไม่ทอดทิ้งกัน จะรักกันตลอดไป"

No comments:

Post a Comment