Tuesday, May 24, 2016

ลูกในวัยอนุบาล.."มีแฟน"!



         คงเป็นเรื่อง ที่น่าตกใจมากเมื่อลูกเดินมาบอกว่า"หนูมีแฟน" ด้วยวัยเพียง 3-5 ขวบ เกิดอะไรขึ้นกับสังคมในปัจจุบัน สิ่งแวดล้อมในโรงเรียน ความเอาใจใส่จาก ผู้ปกครองและครูบาดตกบกพร่องตรงไหนกัน เด็กอาจพูดแค่สนุกปากแต่ในใจ ผู้ปกครองแล้วนั้นคงจะวิตกไม่น้อยหากเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น เราควรจะแก้ปัญหาตรงจุดไหน อย่างไรเพื่อไม่ให้วิถีชีวิตที่ลัดขั้นตอนขนาดนี้เกิดขึ้นได้ในวัยอันไม่สมควร

วิเคราะห์สาเหตุ:

 1.การดูสื่อมากเกินไป ทั้งๆที่มีการแจ้งเตือนช่วงก่อนเข้าละครแล้วนั้นว่าเหมาะสำหรับวัยไหน แต่คงไม่อาจกีดกั้นความอยากรู้อยากเห็นช่างจดจำไปได้แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธไม่ให้เด็กดูได้เช่นกัน

2. การละเลยความเอาใจใส่ที่เข้มงวดกับบางเรื่องของผู้ปกครองเอง ที่ไม่แนะนำให้เด็กเข้าใจพฤติกรรมบางอย่างที่ไม่ได้ผิดหากแต่ยังไม่ถึงเวลาที่จะทำในตอนนั้น การที่ ผู้ปกครองเห็นเป็นเรื่องไม่น่าวิตกกังวลนั้นถือว่าเป็นการสร้างพฤติกรรมแฝงให้เด็กรับรู้ว่านั่นคือสิ่งที่ทำได้

3. การที่ผู้ปกครองรู้สึกสนุก ตลกไปกับคำพูดของเด็กว่ามีแฟนแล้ว เป็นสิ่งที่เรียกได้ว่าส่งเสริมกันเลยทีเดียว เมื่อผู้ใหญ่ไม่ได้ห้าม ไม่ทักเลยอีกทั้งส่งเสริมไปด้วยเด็กจึงคิดว่าสิ่งนั้นไม่ผิดเลย เสมือนให้ท้าย

4. การละเลยจากฝ่ายครู อาจารย์ที่ไม่ดูแล และขาดความรับผิดชอบต่อสังคม ด้วยว่าครูเป็นผู้ดูแลสังคมที่เป็นหมู่คณะแต่ขาดคุณสมบัติดังกล่าว เด็กจึงคิดว่าในสังคมโรงเรียนเด็กสามารถจับคู่ได้เพศชายหญิง เล่นบทบาทสมมุติพ่อแม่ที่เกินจริง (เนื่องด้วยที่บ้านไม่สามารถทำได้) ระหว่างเพศชาย/หญิงเลือกเฟ้นจากหน้าตาเป็นหลัก จึงเกิดการจับคู่อีกทั้งเพื่อนๆที่คอยล้อเลียนจนเกิดความเคยชินในพฤติกรรมนี้

5. เด็กมีปมด้อยในเรื่องของครอบครัวไม่ครบจึงสรรหาสิ่งทดแทนในเพศตรงข้ามก่อนวัยอันควรมากและเร็วเกินไป รวมไปถึงขาดในเพศเดียวกันเช่นลูกสาวขาดแม่ ลูกชายขาดพ่อ

6. เพื่อนเล่นแถวบ้านมีเพศตรงข้ามมากเกินไป เช่นมีลูกสาวแต่ทั้งหมู่บ้านมีเพื่อนเล่นเพศชายเกิน80% เด็กจึงเกิดความเคยชินในการได้สัมผัสเพื่อนต่างเพศได้มากขึ้นตามไป

7. เด็กขาดการได้รับการส่งเสริมที่เหมาะสม มีขีดจำกัดในการเล่น เช่นเด็กผู้หญิงเล่นแต่ตุ๊กตาไม่เคยมีหุ่นยนต์หรือเครื่องมือซ่อมแซมบ้านเลย เมื่อได้เห็นเพื่อนชายเล่นของเล่นของเพศตนเองจึงเกิดความประทับใจว่าเก่ง เท่ห์ อยากอยู่ใกล้ๆเพื่ออาจจะมีโอกาสได้เล่นหรือสัมผัสบ้าง จึงเกิดความรู้สึกที่ว่าอยากเพื่อนต่างเพศมาคอยทดแทนสิ่งที่ขาดหายไป ทั้งๆที่ตนก็สามารถเล่นได้แต่ขาดการส่งเสริมที่ดี

แนวทางแก้ไข:

1.    ลดปัญหาจากการดูทีวี ละคร สื่อต่างๆที่ส่งเสริมไปในทางที่ไม่ดี หรือจำเป็นต้องดูควรคอยให้คำแนะนำในขณะที่ดูร่วมกัน คอยสอน ยกตัวอย่างเปรียบเทียบสิ่งที่ดีและไม่ดี ควรทำหรือไม่ควรทำ และควรทำในวัยไหนเมื่อไหร่ ไม่กีดกั้นแต่ไม่ได้ส่งเสริม อาจจะยากมากเพราะทั้งในละคร สื่อและชีวิตจริงเป็นสิ่งที่เด็กเห็นตลอดเวลา ควรให้คำแนะนำตามสถานการณ์ที่พบเจอ

2.    ควรใส่ใจกับพฤติกรรมลูกตั้งแต่วัยเด็กว่ามีความสนใจไปทางไหนเป็นพิเศษ เป็นไปในทิศทางใด เพื่อที่จะสามารถป้องกันดูแลได้ทันเวลา การให้ความใส่ใจนั้นไม่ใช่เพียงแต่การสอนให้มีพัฒนาการที่ดี เรียนหนังสือเก่ง หากแต่การใช้ชีวิตในสังคมวงกว้างที่มีหลายระดับอายุอยู่ด้วยนั้นเป็นข้อจำกัดในการสร้างภาพให้เห็นความแตกต่าง ผู้ปกครองจึงควรถือโอกาสนี้ให้คำแนะนำไปในตัวเลย

3.    ชัดเจนในคำสั่งสอน ให้เด็กรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่สำคัญที่ผู้ปกครองเน้นย้ำ ไม่เพียงแต่การปล่อยไปตามคำพูดของเด็ก และหมั่นทบทวนคำสอนนั้นเป็นระยะไม่ทิ้งช่วงเพราะเด็กอาจหลงลืมไปได้ตามเวลาและวัย และควรเป็นอย่างยิ่งที่จะคอยตรวจสอบทัศนคติของเด็กเกี่ยวกับเรื่องเพศศึกษา รับฟังและคอยแนะนำเด็ก ถามไถ่ถึงวิธีแก้ปัญหาจากตัวเด็กเองเพื่อให้คำสั่งสอนนั้นเป็นกลางและเด็กสามารถยอมรับได้ด้วยว่าตนเองมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหานั้นด้วยตัวเอง

4.    คอยสอบถามพฤติกรรมเด็กจากครูผู้สอนว่าในขณะอยู่ที่โรงเรียนนั้นมีพฤติกรรมอย่างไร ออกไปในทางไหน การเข้าสังคมของเด็กเป็นเช่นไร เช่น ชอบเล่นกับเด็กผู้ชายหรือผู้หญิงมากกว่ากัน ยามว่างเด็กทำกิจกรรมอะไรบ้าง และควรสอบถามถึงแนวทางร่วมกันแก้ปัญหาหากเกิดปัญหาเรื่องนี้ขึ้น ในลักษณะขอความร่วมมือไม่ใช่บังคับครูให้ดูแลเด็กของเราเป็นพิเศษ อาจเกิดความไม่พอใจและละเลยไปเลยก็ได้

5.    ควรสอนให้เด็กยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้นในครอบครัวเมื่อต้องมีบุคคลใดบุคคลหนึ่งหายไปให้เด็กปรับสภาพ และคอยสอบถามถึงความต้องการทดแทนของเด็กอยู่เสมอ เมื่อเด็กขาดความรักมักจะหาสิ่งทดแทนผู้ปกครองจึงควรใส่ใจที่จะคอยสังเกตพฤติกรรมด้วยเช่นกัน
6.    คอยจำกัด ดูแล และสอนในการคัดเลือกการเล่นกับเพื่อนให้รู้ว่าเพื่อนแบบไหนดีไม่ดี ลักษณะการเล่นของเด็กชายและเด็กหญิงต่างกันอย่างไร

7.    สร้างความสมดุลในการเล่น ให้ได้เล่นทั้งของเล่นเด็กชายและเด็กหญิง เด็กจะทราบเองว่า อะไร อย่างไรที่เหมาะสมกับตัวเค้า หากไม่มีให้เลือกเลยเด็กจะคอยมองแต่สิ่งที่ไม่มีและจะค้นคว้า ทำทุกอย่างให้ได้มาหรือได้มองใกล้ๆก็พอใจแล้ว เมื่อเด็กได้ใกล้ชิดกับเพศตรงข้ามมากเกินไป เด็กจะซึมซับและเกิดความใกล้ชิดกันบางทีอาจจะเกินขอบเขตเป็นที่แปลกตาแก่คนทั่วไป ทั้งนี้ไม่ได้จำกัดมากแต่หากเกิดความสมดุลแล้วเด็กจะพัฒนาไปทางที่ดีขึ้น

หากเราให้ความสนใจแต่เรื่องเรียน การเล่น จนไม่มองพฤติกรรมลูกที่ค่อยๆเปลี่ยนไปนั้นอาจส่งผลเสียในภายหลังและอาจไม่ทันได้แก้ไขใดๆได้ การใกล้ชิดก่อให้เกิดความผูกพันและอยากยึดครองสิ่งนั้นมาเป็นของตน เด็กก็เช่นเดียวกัน อำนาจที่แสดงออกได้อาจไม่ใช่การพาไปดูหนัง กินข้าว หากแต่เป็นเพียงการสร้างจินตนาการขึ้นเองและแสดงออกในทางคำพูดมากกว่า อาจมีปฏิกิริยาร่วมเช่น เขินอายเมื่ออยู่ใกล้ การแบ่งขนมให้ หากผู้ปกครองแนะนำส่งเสริมไปในทางที่ดีเด็กก็จะเรียนรู้ได้ว่า การมีเพื่อนต่างเพศไม่ใช่เรื่องผิดแต่ควรวางตัวให้เหมาะสมเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายกับอีกฝ่าย อีกทั้งยังเป็นการรักษาระดับหน้าที่ของวัยเด็กที่ควรมุ่งแต่การศึกษาเป็นหลัก ไม่ออกนอกลู่นอกทางก่อนวัยอันควร จึงควรได้มีการร่วมมือกันระหว่างเด็ก ผู้ปกครองและครู เพื่อให้เด็กได้มีการเจริญเติบโตที่น่ารักสมวัยต่อไป


เก้าอี้หัดนั่ง พัดลม USB สบู่อาหรับขิง

No comments:

Post a Comment